DeFi is Real — กลับมามอง Blockchain กันอีกครั้ง ใน Layer ใหม่ ไฉไลกว่าเดิม

TiMeFF
5 min readDec 30, 2020

--

Image by Megan Rexazin from Pixabay

วันนี้ได้มีโอกาสฟัง Session “DeFi in Daily Life” โดยพี่โอ

ที่มาเล่าเรื่อง DeFi (Decentralized Finance) ในแบบที่ชาวบ้านฟังเข้าใจ แต่ท่วาคนมาฟังแต่ละคนนี่ Advance มาก ทำให้แลกเปลี่ยนแนวคิดกันสนุกสนาน

เลยจะขอมาสรุปเรื่องใน Session ให้ฟัง สำหรับคนที่ยังไม่เคยรู้จัก Blockchain ไปจนถึงเล่าเรื่อง DeFi ที่หลังๆ ได้ยินบ่อยขึ้น ใครถ้ายังไม่รู้ว่าคืออะไรมาอ่านกันได้ครับ (ถ้ามีผิดพลาดประการใด ขออภัย ณ ที่นี้ด้วย แจ้งมาได้เลยครับผม)

ขอบอกว่าหลังจากไม่ได้แตะวงการนี้มา 2–3 ปี พอผ่าน Session นี้รู้สึกใจเต้นอีกครั้งเพราะสิ่งที่เราเคยพูดกันสมัยก่อนว่า จะมี App อะไรบน Layer Blockchain อีกมาก แต่แรกๆเรากลับเห็นแค่ Bitcoin มาหลายปี วันนี้มนุษยชาติเริ่มสร้าง Layer ใหม่ๆขึ้นมาที่ใกล้เคียงผลิตภัณฑ์ทางการเงินในแบบที่เราเจอกันทุกวัน แต่มาในรูปแบบ เร็วกว่า โปร่งใส มี Creativity ใหม่ๆที่มากขึ้น

ปูพื้นฐานกันก่อน

Centralized Finance บริการทางการเงินที่เรารู้จักกันดี

ก่อนจะรู้จัก DeFi หรือ Decentralized Finance เนี่ย เราต้องมารู้จัก Centralized กันก่อนว่าคืออะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ Prompt Pay ที่เราใช้โอนตังค์ค่าข้าวให้เพื่อนกันทุกวันนี้ครับ

PromptPay : the Game Changer for Payments

ซึ่งเป็นระบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นตัวกลางเจ้าภาพเชื่อมต่อกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆทั่วประเทศไทย เราเริ่มมาดูข้อดีข้อเสียของ Centralized Finance กันก่อน

ข้อดี

  • Trusted Environment อยู่ในการกำกับดูแลของธนาคารกลางของประเทศ ทำให้มีความน่าเชื่อถือ
  • Efficient Transaction Processing การประมวลผลธุรกรรม เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (เดี๋ยวจะไปเทียบกับ DeFi กันว่าทำไม ต้องมีพูดถึงข้อนี้)
  • Easy to resolve dispute โอนถูก โอนผิด ล่มไป เรายังติดต่อไปที่ Customer Support ของธนาคารเพื่อขอแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ข้อเสีย

  • Single point of failure สมมติถ้าระบบส่วนกลางมีการล่มไป ทุกคนที่เชื่อมต่ออยู่ก็จะไม่สามารถทำธุรกรรมได้
  • Limited cross-function & Innovation is slow การจะสร้าง Feature ใหม่ทำได้ยาก ต้องคุยกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ Regulator ลงมาเลย
  • Redundancy process & paperwork ด้วยความที่มีกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้อัพเดทตามเทคโนโลยีใหม่ๆ เรามักจะเห็นงานด้านเอกสารเป็นปึกๆ โดยเฉพาะใครที่เคยกู้ธนาคาร

แล้ว Blockchain มีประโยชน์อะไรบ้าง

ด้วยข้อเสียจาก Centralized Finance ข้างบน ก็เลยเกิด Technology ที่เรียกว่า Blockchain เกิดขึ้นมา (แวะมาเล่าเรื่องนี้ก่อน เพราะเจ้านี้เป็น Backbone ของ DeFi ครับ) แทนที่จะให้ใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรหนึ่งเป็นตัวกลางจัดการธุรกรรมทั้งหมด เราให้ Computer หลายๆเครื่องในระบบ Network สุ่มกันทำหน้าที่เป็นคนจัดการธุรกรรมแทน

Image by Tumisu from Pixabay

หมายความว่า สมมติผม นาย A มีเงิน 100 นึง จะส่งให้เพื่อน นาย B ปกติถ้าเป็น Centralized ผมก็ต้องไปธนาคาร บอกธนาคารว่าขอส่งเงิน 100 จาก A ไป B นะ นายธนาคารก็จะบันทึกธุรกรรม ทำบัญชีให้ แต่พอเป็น Blockchain ผมประกาศทำธุรกรรมไป คนที่จะบันทึกธุรกรรมผมก็จะสุ่มขึ้นมาเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งใน Network (ซึ่งเดี๋ยว Mechanismในการสุ่มจะเล่าต่อไป) แล้วทำการประกาศไปให้ทุกคนใน Network รู้ทั่วกัน แล้วทำการจดบันทึกให้เหมือนกันซะ ซึ่งพอเป็นรูปแบบนี้แล้ว ประโยชน์ที่เราได้เลยก็คือ

  1. Fault Tolerance สังเกตว่าตอนประกาศแล้วทุกคนจดบันทึกลงไป แปลว่าบัญชีธุรกรรมของผม อยู่ในเครื่องทุกเครื่องใน Network มีเครื่องใดเครื่องหนึ่งพังไป ก็ยังมีเครื่องอื่นมาทดแทนได้ — แต่ทีนี้ อาจจะมีคำถามว่า เออ แล้วเราเชื่อถือ Server ที่ไม่รู้จักนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ก็จะโยงไปถึงข้อ 2
  2. Single & Global Ledger อย่างที่ว่าไป ทุกคนใน Network ต้องมีบัญชีธุรกรรมที่เหมือนกัน ถ้าผมปลอมแปลงขึ้นมาในเครื่องผม พอผมเข้าไปอยู่ใน Network มันจะ Detect ได้ทันที เฮ้ย ของนายมันไม่เหมือนกับของคนส่วนมาก ดังนั้นของนายจะไม่ถูกยอมรับไปทันที
  3. Immutable Data ธุรกรรมเมื่อถูกนำเข้าไปสู่ Blockchain แล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลง อันนี้จะขอเล่าว่าทำไม ในหัวข้อถัดไป

How it's validated?

ตอนนี้จะมาเล่า Mechanism ของ Bitcoin Blockchain เพื่อขยายความที่เกริ่นไว้ข้างบนว่าเราจะสุ่มคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องใน Network มาบันทึกธุรกรรมและธุรกรรมนั้นไม่ถูกเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

Mechanism ของ Bitcoin Blockchain เนี้ยใช้แบบ Proof of Work (บอกไว้ก่อน ถ้าอ่านบทความนี้ไม่รู้เรื่อง จะได้ไปหาอ่านที่อื่นต่อได้ 555)

หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินคำว่าขุด Bitcoin ที่จริงนั่นแหล่ะครับคือการให้ คอมพิวเตอร์ สุ่มค่าบางอย่างเพื่อแก้โจทย์ทางคณิตศาสตร์ออกมา (สำหรับใครที่เป็น Programmer มันคือ Brute Force ค่าเพื่อเข้า Hash แล้วให้ได้ค่า Hash ที่มี 0 นำหน้ากี่ตัวก็ว่าไป ปัจจุบันอยู่ที่ 7 ตัว) คอมพิวเตอร์เครื่องไหน สุ่มแล้วได้ออกมาก่อน ก็จะมีหน้าที่นำธุรกรรมต่างๆ เข้าไปในระบบต่อเป็น Block ใหม่ใน Blockchain และประกาศให้โลกรู้ว่า เออ มีธุรกรรมเข้าใหม่ละนะ Update บัญชี กันด้วย

The Bitcoin Blockchain

ซึ่งนั่นทำให้ คนทำหน้าที่บันทึกธุรกรรมมันจะสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ใช่มีใครที่ได้ทำทุกธุรกรรม

ทีนี้ถ้าสมมติ มีคอม 2 เครื่อง สุ่มออกมาได้พร้อมกันอีก เอาเข้า Block พร้อมกันจะเกิดอะไรขึ้น ? คำตอบคือเข้าคู่ก่อนครับ

HOW BLOCKCHAIN WORKS

แต่ต้องมีสักทางที่มีคนมาต่อ Block ต่อครับ จังหวะต่อมา ใครยาวกว่า ฝั่งที่สั้นกว่า Transaction ใน Block นั้นก็จะเป็นโมฆะไปนั่นเอง

และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเหตุผลด้วยว่าทำไม Centralized Finance ถึงมีความ Efficient กว่าในการประมวลผลธุรกรรม ทุกการขุด Block ใหม่นั้น ค่าไฟทั้งนั้นที่เสียไปครับ แล้วยังมีขุดแล้วโมฆะอีก

ตรงนี้ตอบอีกคำถามคือเรื่อง Immutable Data คือถ้าคุณจะไปเปลี่ยนอะไรบางอย่างในธุรกรรมที่เข้า Block ไปแล้ว คุณต้องเข้าไปเปลี่ยนที่ Block นั้นแล้วรีบหาวิธีทำยังไงก็ได้ให้ Block นั้นยาวที่สุด เพื่อไม่ให้ถูกนับโมฆะไปเพราะเพี้ยนจากบันทึกของเครื่องอื่น ซึ่งมันแทบจะเป็นไปไม่ได้ จาก Mechanism ที่คุณต้องแก้โจทย์คณิตศาสตร์ข้างบนออกมา (Math Nerd ดู​ Proof ได้ที่ Paper Bitcoin หัวข้อที่ 11)

Ethereum พระเอกของเรา

ที่เล่าไปเป็น Mechanism ของ Bitcoin ที่จริงมี อีกระบบที่ Implement Blockchain เรียกว่า Ethereum ซึ่งนอกจากจะมีการบันทึกธุรกรรมแล้ว แต่ละบล๊อคก็จะสามารถใส่ Smart Contract หรือชุดโปรแกรมเข้าไปใน Block ให้ทำงานได้อีกด้วย และไอ้ Smart Contract นี่แหล่ะ ตัวดีที่ทำให้เกิด Layer ใหม่ DeFi ที่วันนี้จะมาพูดถึง

Where is DeFi?

ขอยืมสไลด์พี่โอมานิดนึงครับ คือ Blockchain เนี่ยแตกแขนงออกมาได้หลายรูปแบบอาทิเช่น

  1. Cryptocurrency สกุลเงินดิจิตอลอย่าง Bitcoin, USDT, Etheruem
  2. Central Bank Digital Currency สกุลเงินดิจิตอลที่สร้างโดยธนาคารของแต่ละประเทศเช่น Digital Yuan, BOT’s Inthanon ซึ่งตรงนี้มีข้อดีหลายอย่างมากในการใช้งานจริงแทนเงิน Physical ทั้งเรื่องต้นทุนการถือเงินสดที่ต่ำลง ปลอดภัยขึ้น โปร่งใสขึ้น
  3. Notarization อย่าง BCI Thailand ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกัน หรือ ออก Letter of guarantee สำหรับธุรกรรมระหว่างองค์กรเป็นต้น (ใช้ความ Immutable ของ Blockchain เข้ามาและแปะสัญญาไว้บนนั้น)
  4. CeFi บริการทางการเงินที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมสู่ Blockchain อีกทีเช่น Dealer หรือ Exchange อย่าง Bitkub, Binance ที่อำนวยความสะดวกให้มาเปิดบัญชีกับเขาแล้ว Trade เงินดิจิตอลได้ (อาจจะสูญเสีย Fault Tolerance ไปบ้างแต่แลกกับความสะดวกสบาย และ Resolve Dispute ได้)
  5. DeFi บริการทางการเงินที่รันทุกอย่างบน Blockchain ไปเลยนั่นเอง ไม่ต้องมีตัวกลางใดๆ Logic ในการให้บริการอยู่บน Code ที่ตรวจสอบได้ พระเอกของเราในวันนี้
  6. อื่นๆ มีตัวนึงที่ Mention ขึ้นมาใน Session คือ Oracle Service ซึ่งผู้เขียนคิดว่าจะ Enable อะไรหลายๆอย่างในวงการนี้มาก มันคือ Service ที่เชื่อมต่อเหตุการณ์บนโลกจริงกับโลก Blockchain ตัวอย่างเช่นเรามีประกันเครื่องบิน Delay เขียนสัญญาแปะไว้บน Smart Contractแล้ว แต่จะรู้ได้ยังไงว่าเครื่องบินมัน Delay จริง เจ้านี่แหล่ะเป็นคนอาจจะไปยิง API มาหรือหาคน Consensus เพื่อ Feed ข้อมูลเหล่านี้เข้าไปสู่ Smart Contract

DeFi

เล่ามาทั้งหมด พึ่งเกริ่นเข้าอันนี้ Decentralized Finance เนี่ย เปรียบเสมือนบริการทางการเงินที่ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง เพียงแค่เขียน Logic แปะเข้าไป อย่างฮิตๆก็ขึ้น Smart Contract ใน Ethereum แล้วก็ปล่อยให้มันรันของมันเป็นธุรกิจเกิดขึ้น

ตัวอย่างเด่นๆก็เจ้า Compound ที่ทำตัวเป็นธนาคาร รับฝากเหรียญและปล่อยกู้เหรียญ Cypto ออกไป

Business Model เทียบกับธุรกิจทั่วไปก็ง่ายๆครับ

ถ้าเราเป็นธนาคารทั่วไป เราให้คนมาฝากให้ดอกเบี้ย 1% แล้วไปปล่อยกู้ 7% เรากินส่วนต่าง 6%

ข้อเสียก็แน่นอน งานเอกสารเยอะ / ช้ากว่าจะขอกู้ได้ / การประเมิณก็ Subjective อีก / ดอกเบี้ยแพง โดน Spread (ส่วนต่าง ฝาก กู้) ตั้ง 6% (ซึ่งตรงนี้ก็ต้องให้เขาอ่ะนะ ต้องจ่ายเงินเดือน พนักงานอีก)

ทีนี้กลับมาเป็น Compound ที่เป็น DeFi ระบบเอาขึ้น Smart Contract ไปแล้ว ปล่อยมันรันไป ใครเข้ามาฝาก มากู้ มันมี Logic เขียนไว้หมดแล้ว ให้ดอกคนฝาก 1% ปล่อยกู้ 3% กิน Spread 2% พอ

ไม่ต้องมีเอกสารเยอะ / กู้ได้ทันที / กฎการปล่อยกู้ทั้งหมดดูใน Code / ดอกเบี้ยถูกกว่า

และที่สำคัญ ขยายต่อยอดได้อีก อันนี้เข้า Concept Money Lego เนื่องด้วยทั้งหมดมันอยู่ใน Code ผมจะทำ Service เสริม On top เช่นกู้ที่นี่ แล้วไปปล่อยอีกที่ เล่น Arbritrage กับดอกเบี้ยแบบ Automate ไม่ต้องเฝ้า ทุกอย่างทำได้ ไม่ต้องมี Paperwork คุยกัน Programmatically ล้วนๆ (แอบแซว ในไทยมี API พวกนี้ให้เล่นยังเน่อ…)

หรือไปไกลกว่านั้น สร้างออกมาเป็น Service ใหม่ให้คนเล่นบนระบบ Arbritrage ที่เราเขียนแล้วเก็บค่าธรรมเนียมก็ยังทำได้

อีกจุดที่ผมคิดว่ามันไปไกลมากคือ ไอ้ Compound เนี่ยก็เป็น Service หนึ่ง ถ้าอนาคตมีคนมาทำแข่งหรือมันมี Flaw อะไร ถ้าเป็นบริษัททั่วไปเราก็มีทีมงาน CEO มานั่งแก้เกมส์ เจ้านี้พอมัน DeFi ปุ้ป มันใช้วิธีให้คนโหวตกันว่าจะแก้ไขระบบ Service ยังไงดี!!! โดยมีการถือ Token ชื่อ COMP ซึ่งทำให้คุณมีสิทธิ์โหวตและเสนอ Feature ต่างๆ (การเสนอคือคุณเขียน Code เข้าไปเลย)

ตรงนี้ใครสายติดตาม VC ดังๆ จะเห็นชื่อ a16z ใช่ครับ Andreessen Horowitz ลงทุนในเจ้านี่ด้วย (ชื่อ VC เจ้านี่มาจากชื่อผู้ก่อตั้งสองคน Marc Andreessen จาก Netscape และ Ben Horowitz ผู้เขียนหนังสือ The Hard Thing About Hard Things)

ยังมีตัวอื่นที่น่าสนใจอย่าง PoolTogether ที่เป็น No loss lottery ที่ทำให้ความฝันในการสร้าง Product ที่ผมชอบที่สุดอย่าง สลากออมสิน จะเป็นจริงได้อีก

สังเกตได้ว่าข้อดีมันคือ Innovation สุดๆ คุณจะ Experiment มันเร็วมาก แค่คุณเขียน Code ได้ ก็ Deploy มันลงไปเลยทันที

แต่ข้อควรระวังก็คือ Smart Contract Risk ที่แน่นอน ทุก Code ในโลกย่อมมี Bug ยิ่งเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเงินแล้วมันก็มี Impact ที่อาจจะรุนแรงเสมอ ตัวอ่ยางเคส MakerDAO ที่ถึงขั้นแจกรางวัล $50,000 สำหรับผู้ที่ Spot bug เจอ

สรุป

ก็จบไปละครับ สำหรับเล่าย่อๆกับ Session ของพี่โอ

ที่ต้องขอขอบคุณอย่างเป็นทางการอีกที ซึ่งเป็นอะไรที่ส่วนตัวผม Amazing มาก ว่าโลกไปกันถึงขั้นนี้แล้ว อย่างที่มีคำกล่าวว่า “Banking is necessary banks are not” มันมาเร็วกว่าที่คิด

อีกจุดนึงอยากฝากไว้คือสำหรับคนที่มองเรื่องพวกนี้เป็นการเทรด ก็อย่าลืมทำความเข้าใจ Business ของมันให้ดีนะครับ ส่วนสำหรับคนที่มองด้าน Product ใหม่ๆอยู่ ผมว่านี่มันคือ Protocol ใหม่ที่เราจะเข้าไปเล่นได้ เหมือนสมัย Internet มี TCP/IP ขึ้นมาเลย

--

--

TiMeFF

(timeff.io) Tech Entrepreneur, Developer ,and a million other things